> SET > TTB

18 กันยายน 2023 เวลา 09:15 น.

TTBปรับลดจีดีพีปีนี้ที่2.8% หวั่นหนี้สูงกดเสถียรภาพ

#TTB #ทันหุ้น TTB ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงเหลือ 2.8% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการ จับตา 2 มาตรการนำร่องจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าภาครัฐหรือไม่


นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์พิจารณาปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2566 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และปี 2567 จาก 3.6% เป็น 3.2% กดดันจากส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐอเมริกา และจีนอ่อนแอ


*กำลังซื้ออ่อนแอ

ประกอบกับความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในประเทศก็เริ่มอ่อนแอลง ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะปริมาณนักท่องเที่ยวจากจีน เบื้องต้นประเมินมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเทียวจีน อาจไม่ได้เพิ่มนักท่องทเยได้ตามที่คาดหวังเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในจีนเองก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่


พร้อมกันนี้คาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีการประชุมในงวดวันที่ 27 กันยายน 2566 นี้มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.5% ก่อนจะชะลอนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อรอดูผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว รวมถึงประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลก


*เงินดิจิทัลดันหนี้สาธารณะ

สำหรับมาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บานนั้นยังคงต้องติดตามว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจริงได้มาก-น้อยอย่างไร รวมถึงแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งหากต้องกู้เงินมาดำเนินมาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อเพดานหนี้สาธารณะให้เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 65-66% สูงกว่ากรอบเพดานที่รัฐบาลขยายไว้ที่ 61% ตลอดจนความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาล กดดันให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก


"ต่างชาติเริ่มจับตาเพดานหนี้สาธารณะ ดุลการค้า เงินคงคลังของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 11 ล้านล้านบาทหรือมีสัดส่วนราว 61% ของจีดีพีไทยหากต้องกู้อีก 5.6 แสนล้านจะทำให้หนี้สาธารณะเร่งตัวแตะราว 65-66% ของจีดีพีไทย"


นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลังเช่นกัน โดยแม้หนี้สาธารณะคงค้างของไทยยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะ หรืออยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพีในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แต่การขาดดุลการคลังต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปี จากโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นประจำราว 3-5% ของจีดีพี และดันให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นปีละ 6-8%


หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง จะทำให้หนี้สาธารณะไทยเสี่ยงแตะกรอบเพดานหนี้ที่ 70% ต่อจีดีพีภายในปี 70 ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาระการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มากขึ้นในอนาคต


*เปิดปัจจัยเสี่ยง

พร้อมกันนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) แรงส่งจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วกว่าที่คาด ตลอดจนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวได้ล่าช้าและไม่ทั่วถึง รวมถึงการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยอาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้


2) แรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการผลิตและท่องเที่ยวที่แผ่วลง ท่ามกลางภาระหนี้สูง และแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเร่งตัว 3) ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนในช่วงต้นปี2567 ซึ่งกระทบต่อผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ


และ 4) ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2567 ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวมอีกด้วย


สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีแนวโน้มเกินดุลลดลง หรืออยู่ที่ราว 0.1-0.6% ของจีดีพี จากการเกินดุลการค้าลดลงตามมูลค่าส่งออกสินค้าที่ลดลงเร็วกว่ามูลค่านำเข้า เช่นเดียวกับแรงกดดันจากดุลบริการตามรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19  จากทั้งในมิติของจำนวนและกำลังซื้อ รวมถึงการนำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไม่ให้กลับไปแข็งค่าเร็วเหมือนในอดีต

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X