> SET > BANPU

20 พฤศจิกายน 2023 เวลา 08:45 น.

BANPUหนาวนี้พลังงานพุ่ง ราคาก๊าซ-ถ่านหินขยับเพิ่ม

#BANPU #ทันหุ้น - BANPU มองราคาก๊าซ-ถ่านหิน ในไตรมาส 4/2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังเข้าสู่ฤดูหนาวหนุนดีมานด์พลังงานขยายตัว ประเมินราคาอยู่ในกรอบระดับ 3.26 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และ 120 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ ด้านธุรกิจผลิตพลังงาน เดินหน้าขยายการลงทุนโครงการใหม่ ดันกำลังผลิตเข้าเป้า 2.3 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2568


นางสมฤดี  ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง ในช่วงไตรมาส 4/2566 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas) Henry Hub อยู่ที่ระดับ 3.26 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และคาดว่าจะยืนเหนือที่ระดับไม่ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ต่อไปได้ในปี 2567


*Q4ก๊าซ-ถ่านหินพุ่ง

นอกจากนี้ โครงการ Barnett Zero ซึ่งเป็นโครงการ CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐ ได้เริ่มการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อกักเก็บลงชั้นใต้ดินอย่างถาวรเป็นครั้งแรก มีกำลังจับคาร์บอนกว่า 210,000 ตัน นับเป็นก้าวย่างสำคัญของบ้านปูในภารกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยจะส่งผลให้ราคาขาย Gas จากนี้ไปสามารถขยับตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งลูกค้าเองก็ยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป 10-20% ได้


ในส่วนของราคาถ่านหินในช่วงไตรมาส 4/2566 มองว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าราคาถ่านหินอาจไม่ปรับตัวร้อนแรงและผันผวนเหมือนเช่นปีก่อน โดยปัจจุบันราคาถ่านหิน The Newcastle Export Index (NEX) อยู่ที่ระดับราว 121.3 ดอลลาร์ต่อตัน ทั้งนี้บริษัทยังคงปริมาณการจำหน่ายทั้งปี 2566 ไว้ที่ระดับ 21.3 ล้านตัน แบ่งออกเป็น ตลาดในประเทศออสเตรเลีย 6.8 ล้านตัน อินโดนีเซีย 3.5 ล้านตัน และจีน 10.8 ล้านตัน เป็นต้น


ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายถ่านหินในตลาดอินโดนีเซียในไตรมาส 4/2566 นี้ จะอยู่ที่ราว 3.5 ล้านตัน อาจไม่สูงเท่าไตรมาสก่อนที่กว่า 5.3 ล้านตัน เนื่องจากโควตาในการจำหน่ายในแต่ละปีมีจำกัด ด้วยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปีนี้มีปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้โควตาเหลือในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ไม่สูงนัก


ขณะที่กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) บริษัทยังคงเป้าหมายการขยายกำลังผลิตสู่ 5,300 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2568 ปัจจุบันยังขาดอยู่ 1,500 MW ทำให้บริษัทมองหาการลงทุน M&A เพิ่มเติม ซึ่งมองไว้ที่ประเทศสหรัฐ เพราะเป็น Ecosystem ใหม่ที่บริษัทเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่รวมอีก 7 ประเทศที่บริษัทลงทุนไปแล้ว ทั้งในประเทศจีน ที่ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น และในญี่ปุ่นที่จะขยายในด้านของการทำแบตเตอรีฟาร์ม


*เคาะเป้า 9 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า กำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ทางฝ่ายคาด แต่ต่ำกว่าตลาดคาด โดยลดลง 88% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน จากฐานสูงช่วงวิกฤตพลังงาน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพลิกเป็นกำไรเพราะธุรกิจไฟฟ้าเด่นจาก Temple I&II, ภาษีจ่ายลดลง, ธุรกิจก๊าซฟื้นตัว, ธุรกิจถ่านหินชะลอตามราคาขาย และปัญหาธรณีวิทยา ทั้งนี้ทางฝ่ายปรับกำไรปี 2566-67 ลง 10-28% เป็น 8.5-9.4 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง และสะท้อน 9 เดือนแรกของปี 2566 ถูกกดดันจากอัตราภาษีจ่าย และปัญหาธรณีวิทยา


แนวโน้มไตรมาส 4/2566 เติบโตเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และประคองตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากยอดขายถ่านหินเพิ่มขึ้น, การย้ายหน้างาน CEY ลดลง, รับรู้สัญญาขายฉบับใหม่ CEY เต็มไตรมาส, อุปสงค์ในฤดูหนาว, โรงไฟฟ้าหงสาปิดซ่อมลดลง


  ขณะที่ Barnett Zero โครงการ CCS แห่งแรก ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 90% จะเริ่มเปิดใช้งานปลายปีนี้ตามแผน จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ทางฝ่ายประเมินราคาเหมาะสมใหม่ 9.00 บาท สามารถเก็งกำไรการฟื้นตัวช่วงฤดูหนาว แต่ Upside Gain ไม่สูงมาก ประกอบกับไตรมาส 3/2566 ต่ำกว่าตลาดคาด ทำให้หุ้นอาจผันผวนระยะสั้น ลดคำแนะนำเป็น TRADING

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X