> SET > AOT

12 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 17:40 น.

AOT โชว์กำไรไตรมาส1/67 พุ่งแตะ 4.53 พันล้าน เหตุเที่ยวบิน-ผู้โดยสารเพิ่ม

#AOT#ทันหุ้น-AOTไตรมาส1/67 กำไรสุทธิ 4.56 พันล้าน โตกว่า 1,000%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท เหตุ เที่ยวบิน-ผู้โดยสารเพิ่ม  พร้อมเร่งพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว  1 เม.ย.67 ปรัค่าบริการผู้โดยสารขาออกต่างประเทศ เป็น 730 บาทต่อคน -รับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ  เป็น 130 บาทต่อคน


นายเจนวิทย์ มุสิกรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานบัญชีและการเงิน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวม งวดไตรมาส1ปี 2567 (ต.ค.-ธ.ค.2566) อยู่ที่  15,789.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.97% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 8,872.07 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ   4,563.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,231.22%  จาช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ   342.76 ล้านบาท  เนื่องจาก มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ6,883.62 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 78% 


ทั้งนี้จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน  2,725.56 ล้านบาท หรือ 62.64% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 4,158.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.96 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 33.68 ล้านบาท หรือร้อยละ 70.09  โดยงวดไตรมาส1 ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม  2566  มีจำนวนเที่ยวบิน 178,215 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 18.51%  และมีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 28.88 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.49% 


ส่วนค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 1,640.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.51 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ต้นทุนทางการเงิน ลดลง 36.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.96 สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 1,032.81 ล้านบาท หรือร้อยละ 893.59สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น


สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลดำเนินงานในอนาคต


มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ส่วนหนึ่งได้เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ โดยให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้สามารถเริ่มใช้ความตกลงดังกล่าวในวันที่ 1 มีนาคม 2567 ซึ่งความตกลงข้างต้นจะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และมีผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชน


ทั้งนี้ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าอากาศยานหลักทั้ง 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเขียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีความพร้อมในการรองรับการเดินทางของผู้เดินทางทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะนักเดินทางชาวจีนและชาวไทยที่จะเดินทางไปกลับระหว่างสองประเทศได้ตามนโยบายวีซ่าฟรี ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2567 


 โดย ทอท.ได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการการให้บริการ ผู้โดยสารในขั้นตอนต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ให้เกิดความคล่องตัว ไม่ให้เกิดความหนาแน่นในแต่ละจุดบริการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เดินทางทุกคนได้สัมผัสการบริการที่สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว อันจะนำมาซึ่งความประทับใจ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ


นอกจากนั้น ทอท.ได้เตรียมแผนการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศและผู้โดยสารจากหลากหลายภูมิภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้เร่งดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนี้


- โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่ง ผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร AT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 ซึ่งทำให้ท่อากาศยานสุวรรณภูมิ

รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่าง ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่งให้รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 และในส่วนของงานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) จะดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกของอาคารเดิม ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของท่อากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปั ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2570


- โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น50 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573


- โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคารหลังเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการรองรับผู้โดยสารจาก : ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2571


- โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่าง ประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดการจ้าง (Term of Reference : TOR) จ้างผู้ออกแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572


- โครงการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572


- ท่าอากาศยานหาดใหญ่ อยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง


ทอท.มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ และท่าอากาศยาน ในอนาคต เพื่อเตรียมรองรับผู้โดยสารและนักเดินทาง จากทั่วทุกมุมโลกให้ได้รับความสะดวกสบาย และสัมผัสประสบการณ์การเดินทางที่ประทับใจ อันจะนำมาสู่การฟื้นฟูทางด้านอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม 


1 เม.ย.ปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก


ทอท.ได้นำระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing Systems: CUPPS) มาให้บริการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน การให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ความปลอดภัยในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่21 มิถุนายน 2564 ที่ได้กำหนดนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศในการนำระบบ CUPPS มาใช้ในท่าอากาศยานที่ให้บริการแก่สาธารณะ เพื่อพัฒนาการดำเนินการท่าอากาศยานสาธารณะให้มีความทันสมัย มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล โดยการให้บริการระบบ CUPPS มี ดังนี้


- บริการตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment: CUTE) จะเข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการของเคน์เตอร์เช็กอินเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการบนมาตรฐานเดียวกันกับท่าอากาศยานระดับสากล


- บริการเช็กอินด้วยตัวเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารไม่ต้องรอแถวเช็กอิน อีกทั้งยังสามารถเช็กอินล่วงหน้าเป็นเวลา 6 - 12 ชั่วโมงก่อนเดินทาง(ตามเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน)


- บริการรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดสัมภาระได้ด้วยตนเอง



อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ทอท.ได้รับอนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ใ้จัดเก็บค่าบริการระบบ CUPPS จากสายการบิน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 56(5)  ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนอื่นใดตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ในลักษณะที่เป็นค่าบริการที่ไม่เกี่ยวกับ กิจการการบิน (Non-aeronautical Charge) ซึ่งต่อมา กพท.ได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ระบบ CUPPS เป็นระบบที่ ผู้โดยสารเป็นผู้ใช้บริการดังกล่าว และค่าบริการอันเกิดจากการใช้ระบบเป็นค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Aeronautical Charge)



 ดังนั้น ทอท.จึงนำค่าบริการระบบ CUPPS มาคำนวณเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของค่าบริการ ผู้โดยสารขาออก (Passenger Senvice Charges: PSC) ตามพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 56(1)ค่าบริการผู้โดยสารขาออก แทนการเก็บเป็นค่าบริการจากสายการบินเพื่อให้ถูกต้องตามประเภทของค่าบริการ โดยทอท.ได้ประกาศปรับขึ้นค่า PSC ต่อสาธารณชนแล้วเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566 สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศปรับจาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และค่า PSC สำหรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก100 บาทต่อคน เป็น 130 บาทต่อคน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป 


สำหรับรายได้จากการจัดเก็บค่า PSC นั้น กฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารท่าอากาศยานนำไปใช้ในการพัฒนาท่าอากาศยาน จัดหาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการบำรุงรักษาด้านความปลอดภัยท่าอากาสยาน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ของท่าอากาศยานในระดับสากล รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในท่าอากาศยานทุกแห่ง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อ ผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัย และความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จัดไว้รองรับ


 ทั้งนี้การพัฒนาของท่าอากาศยานจะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งทอท.มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจเคียงข้างกับสังคมไทยและเติบโตได้อย่างยั่งยืน


รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X