> กองทุน >

11 มีนาคม 2024 เวลา 14:48 น.

บลจ.วรรณ ชูจุดเด่น เบอร์ 1 กองทุนสินทรัพย์ทางเลือก

#บลจ.วรรณ #ทันหุ้น บลจ.วรรณ เผยผลงานปี 66 AUM เติบโตได้ตามเป้าหมาย จากฐานลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล และดันกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกครองแชมป์อันดับ 1 ได้สำเร็จ  เตรียมรุกตลาดภาคเอกชน ขยายธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เล็งออกกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มอีกหลายกองทุนในปีนี้ เน้น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำ มองหุ้นไทย 1,525 จุด


นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่าน บลจ.วรรณ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ณ ธันวาคม 2566 เติบโตขึ้น อยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 40% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 20%และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 40%  


โดยบริษัทยังคงคำแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุนโดยกระจายสินทรัพย์ในการลงทุนในทุกๆ ประเภท(Asset  Allocation) โดยเน้นวางกลยุทธ์ด้วยสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Asset) สร้างสมดุลให้พอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดปีที่ผ่านมา


“ตลอด 4 ปี บริษัทเลือกวางกลยุทธ์การลงทุนโดยคงแนะนำให้กระจายเงินลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำผ่าน กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย โดยที่ผ่านมา เราเปิดเสนอขายไปทั้งหมด 6 กองทุน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเรามียอดขายรวมทั้งหมดประมาณหมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมยอดขายจากกองทุนส่วนบุคคล"


แชมป์กองสินทรัพย์ทางเลือก

"ทำให้บลจ.วรรณครองแชมป์ IPO กองทุนสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ส่วนความสำเร็จของปีนี้ เราสามารถบริหารกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ได้ก่อนเป้าหมายผ่านกองทุน ONE-GO1 โดยใช้ระยะเวลาเพียง 10 วันทำการ นับว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ของการบริหารกองทุนภายใต้การบริหารของบลจ.วรรณ ประเภททริกเกอร์ฟันด์ ที่เข้าเงื่อนเลิกโครงการก่อนกำหนดการ 5 เดือนจากที่ตั้งเป้าไว้ ”  


อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่งการพิจารณานำเสนอกองทุนทางเลือกประเภทใหม่ โดยเน้นธีมผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำ หรือกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั่วไป 


สำหรับการเสนอขายกองทุนในสินทรัพย์หลัก อาทิ ตราสารทุน ตราสารหนี้ ปีนี้บริษัทมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจมีความผ่อนคลาย และกลายเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น และอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันการใช้นโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวได้อย่างดี


โผกองทุนผลงานเริ่ด 

“ที่ผ่านมาเราได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันกับสภาวะตลาดอยู่เสมอ ซึ่งกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบันนี้  อาทิ ONE-METAVERSE ONE-GECOM ONE-UGG-RA ONE-UJE-RA และ ONE-GLOBFIN-RA มีผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% 29% 27% 24% และ 22% ตามลำดับ ซึ่งนโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านี้เราปรับพอร์ตและคัดสรรการลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเทรนด์เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หุ้นเติบโตสูง และการเงินทั่วโลก รวมทั้งการจับจังหวะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น” นายพจน์กล่าว


นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากธุรกิจกองทุนรวมแล้วบริษัทยังคงรักษาระดับการเติบโตทั้งลูกค้านิติบุคคลและสถาบันองค์กรขนาดใหญ่รวมถึงตัวแทนผู้สนับสนุนการขาย (Selling Agents) ทั้งกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะของกองทุนส่วนบุคคล ยังได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญในการหนุนมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมขนาด AUM อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ปัจจุบันเติบโตขึ้นแตะระดับกว่า 6 หมื่นล้านบาท 


ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีนี้ บริษัทมีแผนรุกขยายฐานลูกค้าในบริษัทภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยนำร่องกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก จากความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ ที่เริ่มส่งสัญญาณในเชิงบวก โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายแก่สมาชิกกองทุนและลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลได้


“ที่ผ่านมาบริษัทจัดกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยลูกค้าที่เป็นSelling Agents ปีนี้ บริษัทได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ารายย่อยผ่านกองทุนเปิด วรรณ อัลตร้า อินคัม พลัส ฟันด์ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-ULTRAPLUS-RA) เพื่อเจาะกลุ่มประชาชนที่ต้องการลงทุนและต้องการสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองด้านประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมกัน ฐานลูกค้ากลุ่ม online platform หรือ กลุ่มอาชีพอิสระ(freelance) ซึ่งกองทุน ONE-ULTRAPLUS-RAจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนในธีม Asset Allocation ในทุกๆ สินทรัพย์ได้ดี นอกจากนี้ เรายังคงมอบสิทธิประโยชน์ทางการตลาดต่อเนื่องกับระบบแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น ShopeePay เป็นต้น” นายพจน์กล่าว


ส่องมุมมองลงทุนปี67

นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ เปิดเผยถึง ภาพการลงทุนว่า สำหรับปี 2567 ถ้ามองตามข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐาน เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวแต่ก็ยังมีอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (3.1% ปี 2566) 


โดยตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นผ่านดัชนี global manufacturing PMI ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (กลับมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 16เดือน) และมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Boom)


ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ยังคงให้น้ำหนักการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งบริษัทมองว่า เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน โดยประเมินว่าวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก ซึ่งเชื่อว่า Fed น่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 และอาจปรับลดอีกอย่างน้อย 2ครั้งในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ 


หากเป็นเช่นนั้นจริง มองว่าผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและตลาดเกิดใหม่อาจมีไม่มากนัก ขณะที่ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ สงครามการสู้รบ และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานที่ยังคงต้องติดตามตลอดปีนี้เช่นกัน


ระยะสั้นหุ้นไทยขาดปัจจุยหนุน

สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย แต่อาจจะไม่ได้โดดเด่นเท่าช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว โดยระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม นอกจากความหวังว่าภาคเศรษฐกิจต่างประเทศจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ถ้าสามารถฟื้นตัวได้จะส่งผลบวกเป็นวงกว้างมายังภาคการท่องเที่ยว การลงทุน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย 


อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลลบในช่วงต้นแต่จะดีในช่วงครึ่งปีหลังคือ ความล่าช้าของรัฐบาลในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากภาครัฐยังช้าเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว 


ทั้งนี้ มองว่าในท้ายที่สุดภาครัฐบาลจะกลับมาเบิกจ่ายได้ตามปกติราวไตรมาสที่ 2 รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาวโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถปรับตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไป จึงไม่แปลกใจที่เห็นนักลงทุนต่างชาติเทขายตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง


*มองหุ้นไทย 1,525 จุด

อย่างไรก็ดี การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงต้องเน้นการคัดเลือกเป็นรายกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ให้เหมาะสมกับวัฎจักรเศรษฐกิจในแต่ละช่วง มากกว่าการลงทุนที่ตัวดัชนีตลาด เราประเมินดัชนีเป้าหมายของปีนี้ไว้ที่ 1,525 จุด อิง Fwd PER ที่ 16.24 เท่า บนสมมติฐาน EPS ที่ 93.87 บาทต่อหุ้น ตลาดหุ้นต่างประเทศ ยังแนะนำคัดเลือกกลุ่มการลงทุนโดยเน้น กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น 

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X