> อาหารสมอง > CPF

29 ตุลาคม 2019 เวลา 18:00 น.

"ธนวรรธน์ พลวิชัย"ชี้อย่าตื่นตัดสิทธิGSP แนะเอกชนปรับเกมสู้ศึกแข่งโลก

ทันหุ้น - "ธนวรรธน์ พลวิชัย"มองสหรัฐฯตัดสิทธิGSPไทยเรื่องปกติ ภาครัฐเดินหน้าอุทธรณ์ แนะเอกชนปรับกลยุทธ์ลดต้นทุน เน้นสร้างแบรนด์แข็งแกร่งสู้ศึกแข่งโลก พร้อมฝากแบงก์ชาติคุมบาทแข็ง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในรายการทันหุ้น ทันเกม ถึงผลกระทบต่อประเทศไทยกรณีสหรัฐฯระงับสิทธิภาษีศุลกากร(GSP)จำนวน 573 รายการ มูลค่า 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลักๆคือสินค้าอาหารทะเล, พาสต้า, ถั่ว, น้ำผลไม้, อุปกรณ์เครื่องครัว เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา มีผลบังคับใช้ 25เม.ย.63 โดยสหรัฐอ้างเหตุผลในการตัดสิทธิมาจากการที่ประเทศไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานสากลว่า เบื้องต้นแยก 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก GSP เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ หรือประเทศชั้นนำของโลก หรือประเทศพัฒนาแล้วจะให้แต้มต่อกับประเทศกำลังพัฒนาหรือการพัฒนาไม่โดดเด่น กล่าวคือประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีสินค้าที่สู้สินค้าจ้าวตลาดไม่ค่อยได้จึงไม่ให้เสียภาษี ดังนั้นจึงได้สิทธิ GSP คือเสียภาษีเป็นศูนย์ หรือต่ำ เพื่อจะเติมแต้มต่อให้ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ให้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวแก่ผู้รับ โดยที่สหรัฐฯไม่ได้เอาอะไรมาแลก ดังนั้นการที่สหรัฐฯจะตัดสิทธิหรือมอบให้ถือเป็นเรื่องของสหรัฐฯ ประเด็นที่2 คือ GSP จะให้ประเทศกำลังพัฒนา มียอดขายในตลาดไม่สูงเกิน 50% และไม่ใช่จ้าวตลาด ถ้าประเทศกำลังพัฒนามีราคาสินค้าถูกจากการที่ภาษีต่ำและไปขายได้เยอะๆเขามักจะตัดสิทธิ GSP ซึ่งประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการตัดสิทธิ GSP คือเรื่องปกติ   ถาม - การตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ให้เหตุผลว่าไทยไม่คุ้มครองเรื่องแรงงาน ตอบ - ถือเป็นการให้เหตุผลที่ผิดปกติ เพราะปกติที่เขาจะตัดสิทธิก็เพราะเรามียอดขายสูง หรือถูกร้องเรียนว่าผู้ประกอบการสหรัฐฯแข่งกับเราไม่ได้ด้วยสิทธิ GSP และการไม่เป็นธรรม แต่ครั้งนี้ตัดด้วยแรงงานจึงตั้งข้อสังเกตุว่าเราไม่ได้คุ้มครองแรงงานจริงหรือไม่ ซึ่งจากข่าวทางรมว.แรงงานระบุว่าจริง เราไม่ได้รับมาตรา 87 และมาตรา 98 แต่เราไม่รับเพราะมันทำให้มีปัญหากับเรา เราควรมีมาตรฐานของเรา เพราะงั้นการตัดตรงนี้มันเป็นเหตุที่เขาอ้าง รมว.พาณิชย์พูดว่าเขาให้เหตุผลแบบนี้คงเป็นเหตุผลแบบนี้ ถาม - กรณีที่ไทยสั่งแบนสารเคมี3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส มีผล 1ธ.ค.62 เป็นชนวนเหตุให้เกิดการโต้ตอบหรือไม่ ตอบ - อันนี้แล้วแต่มุมมองความคิด แต่ว่านั่นคือที่มา เขาตัดสิทธิ GSP ด้วยเหตุผลของเขา ไม่ว่าจะมาจากอะไรก็ตาม เขาตัดแล้ว เราทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาให้อย่างเดียว เขาไม่ได้แลกอะไรกับเรา อันนี้คือเรื่องของเหตุที่เขาแจ้งว่าด้วยเรื่องแรงงาน ก็ต้องบอกว่าด้วยเรื่องแรงงาน        ถาม - ภาครัฐและเอกชนควรเดินเกมอย่างไร ตอบ - หลักการแรก รมว.พาณิชย์บอกว่าจะอุทธรณ์ ด้วยที่ผ่านมาไทยแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างดีจนได้รับรางวัลการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและเยาวชนจนได้รับรางวัลการพัฒนายอดเยี่ยม 2ปีซ้อน เราได้รับการปลดล็อกการคุ้มครองแรงงานที่สหรัฐเคยมองว่าไทยอยู่ในลำดับที่ 2 จับตามองเป็นพิเศษที่เรียกว่า Tier 2 Watch List กลับมาอยู่ระดับ Tier2 ซึ่งเรากำลังพัฒนา ส่วนสหรัฐจะคืนสิทธิ GSP ให้หรือไม่ถือเป็นอีกเรื่อง เพราะไทยมีเวลา 6 เดือนเพื่อคุยกับสหรัฐฯว่าจะแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ หรือต้องทำอะไรอย่างไรเพื่อให้สหรัฐปลดล็อกไทย ส่วนหลักการที่2 คือ การบริหารจัดการภายใน ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ดูแลต้นทุนเพื่อให้มีการตั้งราคาที่ต่ำลงเพื่อชดเชยภาษีที่ถูกเก็บ ภาครัฐต้องดำเนินการเจรจาอุทธรณ์ ส่วนการดูแลค่าเงินเป็นเรื่องของธปท. แต่เรื่องของการปรับในเรื่องของต้นทุน การให้ข้อมูลกับภาครัฐในการไปเจรจาต่อรองกับภาครัฐนั้นเป็นเรื่องของเอกชน แต่ทั้งนี้เวลาที่เรามองข่าวกรณีที่ตัดGSPสูงถึง 4 หมื่นล้าน นั่นเป็นมูลค่ารายการที่เราส่งไปสหรัฐฯ นั่นไม่ได้หมายถึงผลกระทบ 4 หมื่นล้านบาท แต่เป็นหมวดรายการคลอบคลุมเกือบ 600 รายการ ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมไปยังสหรัฐฯประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องการถูกตัดสิทธิ 4 หมื่นล้านบาท แต่ประเด็นสำคัญคือจะเสียภาษีจาก 0% เป็นเฉลี่ย 5%ตามที่กระทรวงพาณิชย์บอก และผลกระทบที่ประเมินไว้ประมาณ 1,800 ล้านบาท ดังนั้นผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมไม่ควรจะเกิดขึ้นในปี 2562 เพราะปกติการส่งออกไปสหรัฐฯประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เราถูกตัด GSP ในหมวด 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเพียงไม่ถึง 5% จึงไม่มีผลต่อเศรษฐกิจรวม แต่จะมีผลต่อธุรกิจในหมวดนั้นๆ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงมองกระทบเศรษฐกิจโดยรวมเพียง 0.01%เท่านั้น ทั้งนี้ การตัดสิทธิ GSP จะเกิดขึ้นแน่นอนหากไทยยังไม่มีการปรับตัว ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นแน่นอนกับธุรกิจที่โดนตัดสิทธิ แต่เชื่อว่าหากเราช่วยกันและไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป องค์กรเอกชนต้องปรับตัวและแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้โดยการร่วมกับภาครัฐเจรจานี่คือสิ่งที่ต้องทำ อย่างไรก็ดีประเมินจีดีพีปีนี้อยู่ในกรอบ 2.8-3% แม้ความเสี่ยงจะค่อนข้างเยอะ ทั้ง Brexit ยังไม่คลาย สงครามการค้ายังไม่นิ่งแม้สหรัฐกับจีนรอมชอมกันได้ ส่วนปี 63 เศรษฐกิจไทยควรจะเติบโต 3-3.5% ซึ่งคงต้องติดตามประเด็น Brexit และสงครามการค้าต่อเนื่อง ซึ่งประเมินปีนี้อาจจะยังยากแต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้

อย่าลืมกดถูกใจ(Like) Facebook : ทันหุ้น กดติดตาม (subscribe)Youtube : ทันหุ้น www.thunhoon.com

 
จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X