> SET > TK

20 กรกฎาคม 2020 เวลา 19:38 น.

TKคาดผลงานโค้ง3ฟื้น ยันพอร์ตสินเชื่อปีนี้ทรงตัว

ทันหุ้น – สู้โควิด: TK ชี้เศรษฐกิจปีนี้ฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนสูง ส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัว กดดันยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อในประเทศหดตัวจากปีก่อน คาดยอดปล่อยสินเชื่อรถยนต์อาจอยู่ที่เพียง 5 แสนคัน และรถจักรยานยนต์อาจเหลือ 1.8 ล้านคันหรืออาจต่ำกว่า ด้านยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่สปป.ลาว-กัมพูชาขยายตัวดี พับแผนลงทุนเมียนมาหลังโควิด-19 ระบาด ล็อกดาวน์ประเทศการเจรจาเลื่อนกำหนด


นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าส่งผลกรทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศเป็นอย่างมาก แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะเบาบางลงแล้วและมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อในช่วงครึ่งหลังปี 2563 จะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมการค้าได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดียังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดเป็นรอบที่ 2 ซ้ำ


ยอดสินเชื่อโค้ง3ฟื้น

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 นี้ จะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงโลวซีซันของธุรกิจเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน พร้อมกันนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2563 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ (New Loan) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแต่มองว่ายังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ในอนาคต เนื่องจากลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้น้อยลง การเรียกชำระหนี้เป็นไปได้ยากขึ้น


โดยบริษัทคาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ในปี 2563 อาจปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน โดยยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อาจหดตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคัน จากเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนอยู่ที่ 9.4 ล้านคัน ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปีนี้อาจปรับตัวลดลงมาเหลืออยู่ที่ราว 1.5 ล้านคัน จากเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน และมองว่าพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2563 อาจปรับตัวลดลงหรือทรงตัวใกล้เคียงช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนอยู่ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,770 ล้านบาท


"ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายของเราเพราะนับตั้งแต่ต้นปีมามีปัจจัยลบหลายอย่างเข้ามากดดัน ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูง การส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัว ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงกำลังซื้อชะลอตัวลง ซึ่งเราเองก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด ทั้งการควบคุมการปล่อยสินเชื่อใหม่ การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"นายประพล กล่าว


พับแผนลงทุน

สำหรับแผนการลงทุนขยายธุรกิจในปี 2563 นั้น หลักๆ จะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ แต่เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อาจต้องมีการเลื่อนกำหนดการเดิมที่ไปออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยในปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเปิดสาขาเพิ่ม 3 สาขา (เดิมมีแล้ว 3 สาขา) รวมเป็น 6 สาขาใน สปป.ลาว ส่วนพอร์ตสินเชื่อในกัมพูชา หลังจากเปิดสาขาเพิ่ม 6 สาขาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คาดจะเริ่มเห็นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังปี 2563 และคาดว่าจะสามารถกลับมาลงทุนอีกครั้งในปี 2564 เป็นต้นไป หลังจากที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ


ขณะที่แผนการลงทุนเข้าซื้อกิจการ Myanmar Finance International Limited (MFIL) ที่ประเทศเมียนมา ในมูลค่าราว 450 ล้านบาท นั้น ในปัจจุบันมีความจำเป็นจะต้องเลื่อนกำหนดการออกไปก่อน เนื่องจากการล็อกดาวน์การเดินทางข้ามประเทศ ส่งผลให้การเซ็นสัญญาและข้อตกลงร่วมต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้คาดว่าอาจจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นไป


อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพิ่มเติมประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเดิมที่ใกล้จะครบกำหนดในช่วงสิงหาคม 2563 อยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้นคงใช้เงินทุนหมุนเวียนมาดำเนินการ เบื้องต้นคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนประมาณภายในช่วงไตรมาส 3/2563 นี้

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X