> SET > TISCO

30 พฤศจิกายน 2020 เวลา 17:12 น.

TISCOตั้งสำรองสูงรับมือNPL

 

ทันหุ้น – TISCO คาดปี 2564 พอร์ตสินเชื่อกลับมาขยายตัวจากสินเชื่อกลุ่มธุรกิจ คงนโยบายควบคุมปริมาณสินเชื่อรายย่อย รับ NPL พุ่งหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือภาครัฐฯ มั่นใจไม่เกิน 3.5% ย้ำที่ผ่านมาตั้งสำรองเพียงพอ แต่จะยังคงตั้งสำรองสูงต่อเนื่องทั้งปี 2564


นายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO กล่าวถึงแผนการดำเนินงานปี 2564 ว่าจะยังคงขยายสาขากลุ่มธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ภายใต้ชื่อ "สมหวัง เงินสั่งได้" รุกเข้าสู่พื้นที่ ที่มีความต้องการสินเชื่อในสัดส่วนสูงอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.36% โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 ถึงไตรมาส 1/2564 เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19


“สินเชื่อมีหลักประกันยังคงสามารถขยายตัวได้ในระยะกลาง-ยาว แต่ธนาคารยอมรับว่ายังคงเพิ่มหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาวะที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวบนความเปราะบาง”


ทั้งนี้ ณ งวด 9 เดือนแรกของปี 2563 กลุ่มบริษัทตั้งสำรองไว้ในระดับสูงกว่าปกติเพื่อรองรับปริมาณ NPLทั้งปี 2564 ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาแตะ 3.5% โดย ณ งวด 9 เดือนแรกของปี 2563 มีปริมาณเงินกองทุนขั้นที่ 1 (เทียร์ 1) ถึง 17.9%, มีสัดส่วน Net Promoter Score หรือ NPSที่ 22.5% อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงแผนการตั้งสำรองในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2564 แม้ว่าที่ผ่านมาจะทยอยตั้งสำรองสูงมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม


"เราคาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.63% หรือมีเม็ดเงิน 5,918 ล้านบาท ซึ่งหากเพิ่มมา 1% ก็ขึ้นมาอยู่ที่ 3.63% ระดับสำรองที่เรามีอยู่คาดว่าจะเพียงพอ Coverage ratio อยู่ที่ 196.1% เพิ่มขึ้นจากต้นปี2563 ที่อยู่ 183.7% โดยหาก NPL เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด เราก็อาจต้องปรับเปลี่ยนการตั้งสำรองใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น"


คาดเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว

นายชาตรี คาดการณ์ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารทิสโก้ทั้งปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาเติบโต โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการของสินเชื่อกลุ่มธุรกิจที่กลับมากู้เงินจากสถาบันทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารจะเพิ่มหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อรายย่อย เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2564 ประเมินว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่ายังต้องใช้เวลากว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ธนาคารจะคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังเนื่องจากความไม่แน่นอนยังอยู่ในระดับสูง


ส่วนในปีนี้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สินเชื่อของธนาคารหดตัวไป -7.4% โดยพอร์ตสินเชื่อของธนาคารแบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 79.3% ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อ 57.3% สินเชื่อทะเบียนรถ Auto Cash 15.5% สินเชื่อบ้าน 6.5% ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ 16.1%, สินเชื่อเอสเอ็มอี 3.6% และ อื่นๆ 1% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อคงค้างมีมูลค่า 224,900 ล้านบาท

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X