> IPO > TEGH

27 กันยายน 2022 เวลา 12:25 น.

โบรกฯ เคาะเป้า "TEGH" สูงสุด 8 บ. คาดกำไรปกติ 3 ปีโตเฉลี่ย 18%

#ทันหุ้น - 4 กูรูหุ้น บล.กสิกรไทย, บล.ทรีนีตี้, บล.หยวนต้า และบล.เอเซียพลัส ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น TEGH อยู่ที่ระหว่าง 6.90 - 8 บาท บล.กสิกรไทยคาดกำไรปกติจะมี CAGR สูงถึงร้อยละ 18 ระหว่างปี 2562 – 2567 ทั้งนี้ ประเมินรายได้แนวโน้มเป็นขาขึ้น แตะระดับ 20,000 ล้านบาทในปี 2567 ขณะที่การดำเนินธุรกิจรูปแบบ ESG ช่วยหนุนการเติบโตระยะยาว ได้รับแรงหนุนจากผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่สนใจซื้อวัตถุดิบยั่งยืนมากขึ้น ระบุการเน้นผลิตสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี


บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (“บริษัทฯ”) หรือ TEGH เป็น holding company ที่ดำเนินธุรกิจ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ และธุรกิจพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์ (OWM) กลุ่มบริษัทฯ เป็นซัพพลายเออร์ให้กับผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลก และบริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มทุนเพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิจและและปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน


ฝ่ายวิจัยของ บล.กสิกรไทย ได้ประเมินราคาเป้าหมายกลางปี 2566 อยู่ในกรอบ 7.2-8.0 บาท/หุ้น อิงจากวิธี PER และวิธี DCF โดยเชื่อว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราสดใส เชื่อว่าอุปสงค์ยางพาราจะเติบโตขึ้นตาม Real GDP ของโลกที่อยู่ที่ราวร้อยละ 3.6 ในปี 2565 คาดว่าอุปสงค์จากจีนจะฟื้นตัวขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่คาดว่าการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักน้อยลง การเปลี่ยนถ่ายไปยัง EV คาดจะเกิดเร็วขึ้น จากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง และความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกที่สนับสนุนพลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปสงค์เพิ่มเติมสำหรับยางธรรมชาติ รวมถึงปัญหาอุปทานขาดแคลนในอินโดนีเซียคาดจะส่งผลบวกต่อผู้ผลิตยางในประเทศไทยทั้งหมด


ฝ่ายวิจัย ของ บล.กสิกรไทย คาดว่ายอดขายยางของกลุ่มบริษัทฯจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ ร้อยละ16 ระหว่างปี 2565 -2567หนุนจากอุปสงค์ยางพาราไทยที่เพิ่มขึ้น และการขยายกำลังการผลิต คาดว่าราคายางพาราจะปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นและอุปทานที่ลดลง นอกจากนี้ ยังคาดว่าเงินบาทที่อ่อนแอจะส่งผลบวกต่อกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากครึ่งหนึ่งของยอดขายมาจากการส่งออก จึงคาดว่ากำไรปกติจะมี CAGR ที่ร้อยละ 18 ระหว่างปี 2565 – 2567 หนุนจากรายได้ที่มีแนวโน้มขาขึ้นซึ่งคาดว่าจะไปถึง 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 ส่วนต่างราคาระหว่างยางธรรมชาติและวัตถุดิบคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คาดความประหยัดต่อขนาดจะดีขึ้นจากต้นทุนคงที่ที่คาดเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงและคาดว่าอัตราส่วนสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นจาก 1.0 เท่า ในปี 2564 มาอยู่ที่ 1.3 เท่า ในปี 2565 ขณะที่คาดว่าสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E ratio) จะลดลงจาก 2.1 เท่า ในปี 2564 มาอยู่ที่ 1.1 เท่า ในปี 2565 หลังได้รับเงินทุนจาก IPO


ตลอดจนการดำเนินธุรกิจแบบ ESG จะมุ่งเน้นไปยังการเพิ่มการเติบโตในระยะยาว เชื่อว่ากลยุทธ์ของบริษัทฯ สอดคล้องกับแนวโน้มที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมของโลก หนุนจากการที่บริษัทได้รับ FSC และ GOLS ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่มีแนวโน้มที่จะซื้อวัตถุดิบยั่งยืนมากขึ้น และสินค้าของบริษัทฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาวให้แข็งแกร่งจากปัจจัยเสี่ยงที่น้อย


สำหรับบทวิเคราะห์ของ บล.ทรีนีตี้ คาดว่ากำไรปี 2566 – 2567 ของบริษัทฯจะเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 12และร้อยละ 6 ตามลำดับ โดยราคายางและน้ำมันปาล์มดิบที่อยู่ในระดับสูงในปี 2564 – 2565 อาจชะลอตัวลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการลดการผลิตและการบริโภคทั่วโลก อย่างไรก็ตามคาดว่ากลุ่มบริษัทฯ จะยังได้ผลบวกจากการขยายกำลังการผลิตและการปรับปรุงประสิทธิภาพภายในโดยประเมินราคาเป้าหมายปี 2566 ของบริษัทฯที่ 6.9 บาท โดยอิง PER 9.1 เท่า (เทียบเคียง PER ย้อนหลังของธุรกิจผู้ผลิตยางแท่งในตลาด)


บทวิเคราะห์บล.หยวนต้า ระบุว่าอุตสาหกรรมยางพาราซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้กลุ่มบริษัทฯนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ เนื่องจากอุปสงค์เร่งตัวขึ้นหลัง COVID-19 คลี่คลายแม้จะยังมีปัญหาด้านการผลิตรถยนต์จากการขาดแคลนชิพก็ตาม และมีปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า(EV Car)ซึ่งจะหนุนการเติบโตของยอดขายรถยนต์ให้สูงขึ้นหลังจากนี้ ขณะที่อุปทานลดลงจากอุตสาหกรรมถุงมือยางที่เติบโตและมีการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่มากขึ้น แย่งน้ำยาง ส่วนพื้นที่ปลูกในโลกลดลงจากปัญหาด้านโรคระบาดและภัยแล้ง และการปลูกใหม่ต้องใช้เวลาทำให้มองว่าราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพในช่วง 5 ปีข้างหน้าได้ทั้งนี้ บทวิเคราะห์บล.หยวนต้าเริ่มต้นให้มูลค่าเหมาะสม ณ สิ้นปี2566ที่ 7.40 บาท โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานด้วยวิธี SOTP และใช้คะแนนจากการประเมินปัจจัยด้าน ESG ในการปรับเพิ่ม Premium ของ PER ขึ้นที่ ร้อยละ 2 ได้มูลค่าเหมาะสมสิ้น 2566 ของบริษัทฯที่ 7.40 บาทต่อหุ้น (จากธุรกิจ ยางธรรมชาติ ที่ 7.19 บาท และธุรกิจน้ำมันปาล์มดิบที่ 0.21 บาท) เทียบเท่ากับ PER65 ที่ 10.1 เท่า


นอกจากนี้ บทวิเคราะห์บล.เอเซียพลัส ระบุว่า คาดการณ์แนวโน้มกำไรสุทธิปี 2565 – 2566 ของกลุ่มบริษัทฯจะเติบโต ร้อยละ 45 จากและ ร้อยละ 15จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน จากแนวโน้มปริมาณขายยางพาราและน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น และราคาขายยางพาราปรับเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายกำลังการผลิตของกลุ่มบริษัทฯโดยกำหนด Fair value ปี 2565 เท่ากับ 6 บาท และ Fair value ปี 2566 เท่ากับ 6.90 บาท อิง PER 8 เท่า และสามารถคาดหวังอัตราเงินปันผลตอบแทนได้ราว ร้อยละ 3 – 4 ต่อปี



รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

APP ทันหุ้น ANDROID คลิก https://qrgo.page.link/US6SA

APP ทันหุ้น IOS คลิก https://qrgo.page.link/QJKT7

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news 

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X