> SET > THANI

20 กรกฎาคม 2020 เวลา 11:07 น.

THANI รัดเข็มขัดสินเชื่อใหม่ โควิดยังเสี่ยง-คุมNPLไม่เกิน5%

ทันหุ้น - THANI กางแผนงานไตรมาส 3/2563คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยเหลือเดือนละ 1 พันล้านบาท รับในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีความกังวลต่อการระบาดไวรัสโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจ มองพอร์ตสินเชื่อคงค้างปีนี้แตะระดับ 4.5 - 5 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงปีก่อน ด้านยอดปล่อยสินเชื่อใหม่อาจไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท มั่นใจความสามารถกด NPL ปีนี้ต่ำ 5%


นายวิรัตน์ ชินประพินพร ประธานกรรมการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาส 3/2563มองว่าอาจปรับตัวดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในกรณีหากไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระรอก 2เนื่องจากในปัจจุบันกิจกรมการค้าเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจกันได้มากขึ้นแล้ว แต่เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศอาจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังซึมตัวอยู่


*พอร์ตสินเชื่อทรง5หมื่นล.

ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าความต้องการสินเชื่อในการประกอบธุรกิจนั้นยังคงมีอยู่จำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาหลายธุรกิจมีความจำเป็นต้องหยุดการดำเนินธุรกิจช่วงคราวเพื่อสนองตามนโยบายรัฐ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังปี 2563ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เฉลี่ยอาจอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,000ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่วางไว้ที่ 1,500ล้านบาทต่อเดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้สงสัยจะสูญในอนาคต


โดยภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2563 แม้ว่าจะมีการขยายตัวที่ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก และหากว่าจากนี้ไปไม่มีผลกระทบใหม่เข้ามากดดัน บริษัทจะสามารถกลับมาปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านบาทต่อเดือน หรือภายใน 6เดือนหลังของปีนี้จะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 9,000 - 10,000 ล้านบาท ดังนั้น เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปี 2563 ที่ 15,000 - 16,000 ล้านบาท ยังเป็นไปได้ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อคงค้างสิ้นปีนี้คาดแตะที่ระดับ 45,000 - 50,000 ล้านบาท ใกล้เคียงช่วงเดียวกันกับปีก่อน


ในส่วนของระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2563เบื้องต้นมองว่าอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยแต่ไม่เกิน 5%ซึ่งเป็นไปตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันลูกหนี้ที่พักชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มกลับมาชำระคืนได้แล้ว ทำให้มองว่าความสามารถในการรักษาระดับ NPL จะยังคงทรงตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปีนี้


"ในตอนนี้เรายังคงรักษาระดับการปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่เฉลี่ยเดือยละประมาณ 1 พันล้านบาท และยังคงต้องคุมเข้าการปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าอาจเกิดระรอกที่ 2รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนักทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้คงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพอร์ตสินเชื่อคงค้างในปีนี้อาจเติบโตใกล้เคียงปีก่อน "นายวิรัตน์ กล่าว


**โควิดกดสินเชื่อใหม่

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ทางฝ่ายยังคงคำแนะนำ "ถือ" และราคาเป้าหมาย 3.60 บาท โดยมีมุมมองเป็นกลางจากการประกาศเพิ่มทุนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งส่งผลดีต่อสถานะทางการเงินทำให้ D/E หลังการเพิ่มทุนจะลดลงสู่ระดับ 5.0 เท่า เทียบกับ debt covenant ที่ 10.0 เท่า ทำให้บริษัทสามารถรักษา credit rating ปัจจุบันที่ A- Stable สำหรับ ผลการดำเนินงานปี 2563 นี้ จะยังถูกกดดันจากยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่ 2 พันล้านบาทต่อเดือน มาอยู่ที่ 1.5พันล้านบาทต่อเดือน


ทางฝ่ายจึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ไว้ที่ 1.75 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 11% และคาดว่า NPLs จะอยู่ที่ 5% โดยในไตรมาส 2/2563 NPLs จะทรงตัวจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2563 ประกอบกับปัจจัยราคาหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมามองว่าเป็นผลมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X